ความเป็นมาของพระธรรมเทศนาในวาระต่างๆ

ธรรมะรุ่งอรุณ

      “ธรรมะรุ่งอรุณ” เป็นคำสอนที่พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ได้สอนไว้สั้นๆ ในตอนเช้าหลังรับบาตรและฉันเช้าที่ศาลา ๘๔ ปี วัดธรรมมงคล ท่านจึงใช้ชื่อว่า “ธรรมะรุ่งอรุณ” เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ทราบถึงหลักธรรมคำสอนและแก่นของพุทธศาสนาผ่านโอวาทของพระอาจารย์หลวงพ่อ ซึ่งได้ร้อยเรียงออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย แต่แฝงไปด้วยกุศโลบายนำเข้าสู่ธรรม เหมาะสำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัย รวมทั้งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่หลวงพ่อวิริยังค์ ได้ประสบระหว่างที่อยู่กับพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์มั่น เล่าถึงประวัติของวัดธรรมมงคล ประวัติพระมหาเจดีย์ ซึ่งมีทั้งความสนุกสนานและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงคำสอนของหลวงพ่อฯ ซึ่งได้แทรกไว้ในแต่ละวันทุกเช้าอย่างสม่ำเสมอ

     

เจตนาของพระอาจารย์หลวงพ่อฯ ที่ได้เพียรพร่ำสอนลูกศิษย์เป็นประจำทุกๆ วันในตอนเช้านั้นเปี่ยมด้วยความเมตตาหาที่ประมาณมิได้ ท่านได้ฝ่าฟันอุปสรรคความยากลำบากมากมายโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในการนำวิชาสมาธิเผยแพร่ไปทั่วโลก และหลวงพ่อมักจะกล่าวเสมอว่า ชีวิตนี้ไม่ประสงค์สิ่งใด นอกจากที่จะได้เห็นผู้สนใจเข้ารับการอบรมสมาธิ เพื่อสันติสุขของคนไทยและชาวโลก

ธรรมะรุ่งสว่าง

      ต่อมาในการแสดงธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๑ พระอาจารย์หลวงพ่อได้เปลี่ยนชื่อเรียกการแสดงธรรมเทศนาในตอนเช้าที่วัดธรรมมงคลนี้ว่า “ธรรมะรุ่งสว่าง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ธรรมะฟ้าสาง

เนื่องด้วยพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งที่วัดศรีรัตนธรรมาราม ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้มีคำสอนไว้สั้นๆ ในช่วงเช้าหลังรับบาตรและฉันเช้าที่วัดศรีรัตนธรรมาราม จึงเรียกชื่อว่า “ธรรมะฟ้าสาง” แยกจาก “ธรรมะรุ่งอรุณ” ที่วัดธรรมมงคล หลวงพ่อฯ ได้เสียสละในการให้ธรรมะและสอนการปฏิบัติต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไปจำนวนมากให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ และการปฏิบัติแบบง่ายๆ

พระอาจารย์หลวงพ่อมีจุดมุ่งหมายให้วัดศรีรัตนธรรมารามนี้ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีต้นไม้ใหญ่มากมายให้เป็นวัดป่าที่อยู่ใกล้ตัวเมือง เป็นสถานที่สงบสมควรแก่การปฏิบัติสมาธิ ให้มีพระที่เคร่งครัดมาจำวัด เพื่อขัดเกลาจิตใจสร้างพระที่ดีให้แก่พระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมของศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์หลวงพ่อไม่ว่าจะเป็นทั้งพระและโยม นอกจากนี้พระอาจารย์หลวงพ่อได้ใช้สถานที่ของวัดนี้ เปิดหลักสูตร “คุรุสาสมาธิ” เพื่อสอนวิชาสมาธิให้กับพระที่มาจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย

 

ธรรมะต่างแดน

       ในปี ค.ศ.1999 พระอาจารย์หลวงพ่อได้ก่อตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ ประเทศแคนาดา ขึ้นเพื่อต้องการขยายวิชาสมาธิไปยังประเทศที่พูดและใช้ภาษาอังกฤษ กอปรกับประเทศแคนาดาเป็นแหล่งที่มาของก้อนหยกมหึมา 32 ตัน ซึ่งมีอายุประมาณ 8,000 ถึง 10,000 ปี เคลื่อนย้ายมาจากเทือกเขาร็อคกี้ ผ่านมาทางคิงส์เม้าธ์เท่น มาขุดพบเจอด้วยความบังเอิญที่บ่อทองคำ และพระอาจารย์หลวงพ่อได้บินจากประเทศไทยไปถึงเมืองแวนคูเวอร์ บริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) เพื่อตรวจสอบหินหยกที่ท่านเห็นในนิมิตขณะนั่งสมาธิที่วัดธรรมมงคล และรอคอยมาถึง 5 ปี จึงทำให้ท่านมีความผูกพันกับประเทศแคนาดา และชาวคาเนเดี้ยน ทำให้ท่านตัดสินใจไปสร้างวัดไทยและเปิดสอนวิชาสมาธิที่ประเทศแคนาดา และก้อนหยกอันล้ำค่านั้น ได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย และแกะสลักโดยช่างชาวอิตาเลียน เป็นพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประดิษฐานอยู่ ณ วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ปัจจุบัน การดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรครูสมาธิในประเทศแคนาดา

ปัจจุบัน การดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรครูสมาธิในประเทศแคนาดา มีทั้งหมด 6 สาขา สาขาแรกคือ เมืองเอดมันตัน Edmonton, Alberta และได้ขยายสาขาไปเมืองต่างๆ เช่น น้ำตกไนแอการ่า (Niagara Falls) เมืองออนโตริโอ (Ontario) , เมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) รัฐบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) , ริชมอนด์ ฮิลล์ (Richmond Hill) , เมืองคัลการี (Calgary) และเมืองเอ็ดมันตัน (Edmonton) รัฐอัลเบอร์ต้า (Alberta) และ ออตตาวา (Ottawa)

     โดยในระหว่างที่พระอาจารย์หลวงพ่ออยู่ที่ประเทศแคนาดานั้น ท่านได้บันทึกวิดีโอการแสดงพระธรรมเทศนาสั้นๆ ที่วัดราชธรรมวิริยาราม ๓ เมืองเอ็ดมันตัน (Edmonton) และวัดราชธรรมวิริยาราม ๔ เมืองคัลการี่ (Calgary) รัฐอัลเบอร์ต้า (Alberta) ประเทศแคนาดา เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสรับฟังหลักธรรมคำสอนของพระอาจารย์หลวงพ่อในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย

ธรรมะในวาระพิเศษ

      เป็นการรวบรวมธรรมะคำสอนที่พระอาจารย์หลวงพ่อแสดงไว้ในวาระพิเศษต่างๆ เช่น ในระหว่างงานพิธีสวดลักขี ที่วัดธรรมมงคล, พิธีบำเพ็ญกุศล ศาลาพุทธมงคลศรีไทย (ศาลาพระหยก), พิธีมอบป้ายสถาบันพลังจิตตานุภาพ , โอวาทธรรมในการสอบปฏิบัติธุดงค์ของนักศึกษาครูสมาธิ เป็นต้น